แนวคิดในการจัดการเรียนการสอน TPACK Model ตอนที่ 2
ความรู้ในเนื้อหาผนวกวิธีการสอน
(Pedagogical Content Knowledge: PCK)
อนุศร หงษ์ขุนทด
19/03/2015
musicmankob@gmail.com
จากตอนที่แล้วได้กล่าวถึง 3 องค์ประกอบหลักของ TPACK Model ที่กล่าวถึงมุมมองต่างๆ ที่ผู้สอนในศตวรรษที่ 21 ควรจะมี และเป็นกรอบแนวคิดเพื่อนำไปใช้ในกระบวนการจัดการเรียนการสอนสำหรับผู้เรียน ที่ประกอบไปด้วย ความรู้ด้านเทคโนโลยี (TK), ความรู้ด้านวิธีการสอน (PK), ความรู้ด้านเนื้อหา (CK)
ในตอนที่ 2 นี้จะกล่าวถึงส่วนที่ 2 ส่วนที่คาบเกี่ยวกันก่อนครับ คือ ความรู้ในเนื้อหาผนวกวิธีการสอน (PCK)
ภาพที่ 1 ความรู้ในเนื้อหาผนวกวิธีการสอน (Pedagogical Content Knowledge: PCK)
ปรับปรุงจากที่มา: (Koehler, M. and P. Mishra, 2008)
องค์ประกอบหลัก 2 องค์ประกอบจาก TPACK Model มีดังนี้ครับ
1. ความรู้ด้านเนื้อหา (Content Knowledge) หรือ CK หมายถึง สาระ, ข้อมูล, แนวคิด, หลักการที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาวิชาการในหลักสูตรที่ต้องการที่จะถ่ายทอดไปยังผู้เรียน เช่น คณิตศาสตร์, ภาษาไทย, วิทยาศาสตร์ หรือวิชาอื่น ๆ ตามแต่ผู้สอนต้องการ
2. ความรู้ด้านวิธีการสอน (Pedagogical Knowledge) หรือ PK หมายถึง ความรู้ความสามารถของผู้สอนที่นำมาประยุกต์ใช้เพื่อเป็นแนวทางการเรียนการสอนให้กับผู้เรียน หรือที่เกี่ยวกับวิธีการถ่ายถอดความรู้ไปสู่ผู้เรียน รวมไปถึงกลยุทธ์ หรือกระบวนการ, การปฏิบัติ หรือวิธีการสอนทั้งในและนอกชั้นเรียน เช่น การเรียนการสอนโดยใช้วิธีการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นหลัก (Problem – based Learning: PBL), การเรียนรูที่ใช้สมองเป็นหลัก (Brain – Based Learning), วิธีสอนแบบโครงงาน (Project Method), การจัดการเรียนรู้แบบค้นพบ (Discovery Method), วิธีสอนแบบศึกษาด้วยตนเอง (Self-Study Method) เป็นต้น
จากองค์ประกอบหลักทั้ง 2 องค์ประกอบของรูปแบบ TPACK ส่วนที่ทับซ้อนกันนี้เรียกว่า
“ความรู้ในเนื้อหาผนวกวิธีการสอน (Pedagogical Content Knowledge: PCK)”
ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่จะนำเอาความรู้ความเชี่ยวชาญเกี่ยวกับวิธีการสอนมาประยุกต์ใช้กับเนื้อหาหรือหลักสูตรที่จะนำมาใช้สอน มาจากนายคนนี้ครับ (Shulman, L. S., 1986) เขาได้กล่าวว่าสิ่งที่ขาดหายไปจากกระบวนทัศน์ที่เกี่ยวกับการวิจัยทางการศึกษาและการศึกษาเกี่ยวกับการสอน (Missing paradigm) ก็คือ “ความรู้ในเนื้อหาของผู้สอน”ซึ่งเขาอธิบายและแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทครับอันได้แก่
1. ความรู้ในเนื้อหาสาระ (Subject matter content knowledge)
2. ความรู้เกี่ยวกับหลักสูตร (Curricular knowledge)
3. ความรู้ในเนื้อหาผนวกวิธีสอน (Pedagogical content knowledge: PCK)
เขาได้อธิบายถึงความสำคัญของความรู้ในเนื้อหาผนวกวิธีสอนว่าเป็นความรู้ที่มีความเกี่ยวข้องกับความสามารถในการสอนของผู้สอนโดยตรงซึ่งประกอบด้วย
1. ความรู้ในการนำเสนอเนื้อหาสาระของผู้สอนเพื่อให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่นำเสนอให้ได้มากที่สุด
2. ความเข้าใจเกี่ยวกับแนวคิดหรือความรู้เดิมของผู้เรียนมีมาก่อนหรือไม่ในหัวข้อหรือบทเรียนที่จะใช้สอน
ดังนั้น ผู้สอนจะต้องคำนึงถึงปัจจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และเป็นผู้ออกแบบการสอนเพื่อให้ได้วิธีการที่ดีที่สุดในการถ่ายทอดเนื้อหาไปยังผู้เรียน เช่น ผู้สอนควรปรับปรุงเนื้อหาสาระสำคัญเพื่อให้มีความสอดคล้องกับการสอน, ค้นหาวิธีการที่มีความหลากหลายในการนำเสนอเนื้อหาให้กับผู้เรียน, ค้นหาวิธีการใช้เครื่องมือต่าง ๆ ที่จะสามารถนำมาประยุกต์ใช้เพื่อสนับสนุนการเรียนการสอน สำหรับเป็นทางเลือกให้ผู้เรียนได้เกิดความคิดรวบยอด และ ความรู้พื้นฐานเดิมของผู้เรียน
สรุปได้ว่า PCK นั้นมีความสำคัญในลำดับต้นๆ เลยนะครับในการที่ผู้สอนจะต้องคำนึงถึง และนำความรู้ในเนื้อหาที่จะสอน และวิธีการสอน เพื่อให้สามารครอบคลุมไปถึงภารกิจหลักของกระบวนการเรียนการสอนทั้งหมดด้วย ซึ่งองค์ประกอบต่างๆที่เกี่ยวของในการนำไปวิเคราะห์ออกแบบการสอนนั้นควรจะมี 7 องค์ประกอบหลักที่ผู้สอนควรนำไปพิจารณาครับ คือ 1) เนื้อหาสาระ (Subject matter) 2) การเรียนรู้ของผู้เรียน (Student learning) 3) บริบท (Context) 4) วัตถุประสงค์ (Purpose) 5) หลักสูตร (Curriculum) 6) กลยุทธ์การสอน (Instructional strategies) 7) การประเมินผล (Assessment)
ภาพที่ 2 วงล้อการวิเคราะห์ความรู้ในเนื้อหาผนวกวิธีการสอน
ในส่วนของการนำไปใช้นั้นจะขอนำไปกล่าวถึงในตอนต่อๆ ไปนะครับ ยังเหลืออีก 2 ส่วนที่ทับซ้อนกันอยู่ครับ ในตอนหน้าจะกล่าวถึง ความรู้ในวิธีการสอนผนวกเทคโนโลยี (Technological Pedagogical Knowledge) หรือ TPK ครับ หากผิดพลาดประการใดขออภัยทุกท่านด้วยนะครับ ผมพยายามจะเล่าในสิ่งที่ได้อ่านและสนใจอยู่ครับ และผมหวังว่าสิ่งที่กล่าวถึงจะเป็นประโยชน์กับผู้สอนทุกท่านนะครับ ขอบคุณทุกท่านที่ติดตามครับ
หากบทความนี้มีประโยชน์และต้องการนำไปใช้โปรดอ้างอิงตามนี้ครับ
อนุศร หงษ์ขุนทด. (2558). ความรู้ในวิธีการสอนผนวกเทคโนโลยี (Technological Pedagogical Knowledge: TPK). (Online): http://pitcforteach.blogspot.com/2015/03/tpack-model-2.html
อนุศร หงษ์ขุนทด
musicmankob@gmail.com
19-03-2015
อ้างอิง
Koehler, M. and P. Mishra. 2008. Introducing Tpack, น. 3-29. ใน AACTE Committee on Innovation and Technology, eds. Handbook of Technological Pedagogical Content Knowledge (Tpck) for Educators. Routledge, New York; Washington, DC.
Koehler, M.J., P. Mishra and W. Cain. 2013. What Is Technological Pedagogical Content Knowledge. Journal of Education. 193(3): 13.
Shulman, L.S. 1986. Those Who Understand: Knowledge Growth in Teaching. Educational Researcher. 15(2): 4-14.
ความคิดเห็น
แสดงความคิดเห็น