ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom)

                                                                                                          โดย นายอนุศร  หงษ์ขุนทด
บทนำ                  
           บล็อกนี้เกิดจากแรงบันดาลใจที่ได้จากคำถามต่างๆ ที่เพื่อนครูถามกันมามากพอสมควรจากนโยบายใหม่ของกระทรวงศึกษาธิการ แล้วก็ได้ศึกษาแนวนโยบายการจัดการเรียนการสอน สำหรับนักเรียนในปีการศึกษา 2556 ที่ท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่ได้มอบนโยบาย ที่กล่าวไว้ในวันที่ 8 พ.ค. 2556 ความว่า “ จะต้องเลิกเสียเวลามาท่องจำในสิ่งที่ไม่จำเป็น แต่ให้ท่องเฉพาะสิ่งที่จำเป็นเท่านั้น แล้วนำเวลาเรียนไปส่งเสริมการคิดวิเคราะห์ให้กับเด็ก และต้องแบ่งแยกความสำคัญของเนื้อหา เลือกเน้นในบางเนื้อหา อะไรที่ไม่จำเป็นก็ตัดทิ้งไป ที่สำคัญนอกจากด้านวิชาการแล้วยังต้องส่งเสริมการปลูกฝังเรื่องคุณธรรม จริยธรรรมให้แก่นักเรียน รวมถึงการปลูกฝังประชาธิปไตยด้วย โดยต้องสร้างบรรยากาศการเรียนรู้ประชาธิปไตยในโรงเรียน เพราะเรื่องเหล่านี้จะเรียนรู้ได้ต้องผ่านการปฏิบัติซ้ำๆ จนเด็กซึมซับ “ รมว.ศึกษาธิการ กล่าว (เดลินิวส์, 2556)
            ท่าน ดร.ชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) กล่าวว่า ปีการศึกษา 2556 นี้ สพฐ.จะเริ่มปรับลดการให้การบ้านโดยใช้วิธีให้ครูแต่ละวิชาบูรณาการการให้การบ้านร่วมกัน จำนวนการบ้านรายวันของเด็กจะลดลง ซึ่งขณะนี้ได้จัดทำคู่มือการบูรณาการการให้การบ้านแบบครบวงจรเสร็จเรียบร้อยแล้ว และในเดือนพฤษภาคมนี้ จะนำคู่มือดังกล่าวมาจัดอบรมให้แก่ศึกษานิเทศก์ก่อนขยายผลสู่โรงเรียนต่อไป นอกจากนี้สพฐ.ยังได้นำแนวคิดการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า “ห้องเรียนกลับด้าน” หรือ “Flipped Classroom” มาเริ่มใช้ในปีการศึกษา 2556 ด้วย โดยจะให้นำร่องดำเนินการในเขตพื้นที่การศึกษาที่มีความพร้อม ซึ่งห้องเรียนกลับด้านนี้จะเป็นการให้เด็กเรียนรู้ที่บ้าน และมาทำการบ้านที่โรงเรียน ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องการบ้านและช่วยพัฒนาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้เด็กได้(เดลินิวส์, 2556)
      
              ถึงตรงนี้ก็เลยเกิดคำถามว่า “ห้องเรียนกลับด้าน” หรือ “Flipped Classroom” มันคืออะไรก็เลยคิดว่าน่าจะนำเรื่องนี้มาขยายความให้ง่ายแก่การเข้าใจและสามารถนำไปใช้ได้อย่างสะดวกและง่ายๆ ในชั้นเรียน

ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom)

            ห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) คืออะไร "ห้องเรียนกลับด้าน" หรือ "Flipped Classroom" เป็นแนวทางจัดการเรียนการสอนแบบใหม่ที่ถูกคิดค้นขึ้นจากประสบการณ์การสอนในชั้นเรียนของ Jonathan Bergmann และ Aaron Sams ซึ่งพวกเขาเป็นครูวิชาเคมีของโรงเรียน Woodland Park High School รัฐโคโลราโด ประเทศสหรัฐอเมริกา และได้เขียนหนังสือที่ชื่อ Flip Your Classroom : Reach Every Student in Every Class Every Day ขึ้น (สั่งซื้อได้ที่นี่ครับ)
        ห้องเรียนกลับด้านมีแนวคิดเริมจากที่ครู 2 ท่านนี้ได้พบว่าการเรียนของนักเรียนหลายๆ คนไม่สามารถเข้ามาเรียนในชั้นเรียนได้ตามเวลาอันเนื่องมาจากสาเหตุหลายๆประการ เช่นนักเรียนที่เป็นนักกีฬา นักเรียนที่ต้องทำงานนอกเวลา หรือกิจกรรมต่างที่ต้องใช้เวลาในการเดินทาง หรือแม้กระทั้งเนื้อหาวิชาที่ใช้เวลาในการทำความเข้าใจมากๆ จนไม่สามารถจัดได้หมดในชั่วโมงเรียนดังนั้น Jonathan และAaron จึงมีแนวคิดจาก
                  1. พิจารณาเลือกเทคโนโลยีที่มีความเป็นไปได้ที่จะนำมาใช้กับนักเรียน และนักเรียนสามารถนำขึ้นมาเรียนได้ขณะเดินทางทาง หรือในเวลาว่างจากอุปกรณ์หรือเครื่องมือ ที่นักเรียนมี เช่น คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน, หรือแล็บท็อป นอกเหนือจากการเรียนในชั้นเรียน
                 2. โดยมีกิจกรรมต่างๆ เป็นตัวเชื่อม เช่น อีเมล์จากนักเรียนที่มีข้อสงสัย ,อีเมล์จากครูผู้สอนตั้งคำถามไปยังนักเรียน ,บทความหรือเนื้อหาต่างๆ เกี่ยวกับเนื้อหาวิชาที่อยู่บนเว็บไซด์

                 Jonathan และAaron ได้กล่าวว่ารูปแบบห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom)เป็นวิธีการที่ครอบคลุมการใช้งานและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต เพื่อยกระดับการเรียนรู้ในห้องเรียนต่างๆ ของคุณเพื่อให้คุณสามารถใช้เวลามากขึ้นในการมีปฏิสัมพันธ์กับนักเรียนแทนการบรรยายหน้าชั้นเรียนเพียงอย่างเดียว ซึ่งวิธีการที่ถูกใช้เป็นส่วนใหญ่มักจะทำการสอนโดยใช้วิดีโอที่ถูกสร้างขึ้นโดยครู ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนรู้ได้นอกเวลาเรียน Jonathan และAaron เรียกกว่าห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom) เพราะกระบวนการเรียนและ การบ้านทั้งหมดจะ “พลิกกลับ” สิ่งที่เคยเป็นกิจกรรมในชั้นเรียน เช่นการจดบันทึก (lecture) จะถูกทำที่บ้านผ่านทางวิดีโอที่ครูสร้างขึ้นและสิ่งที่เคยต้องทำที่บ้าน (งานต่างๆได้รับมอบหมาย) จะนำมาทำในชั้นเรียน

สรุป
                 ถึงตรงนี้ก็น่าจะอธิบายง่ายๆ ว่า การเรียนการสอนในห้องเรียนที่ใช้เวลามากๆ เช่น วิทยาศาสตร์ หรือคณิตศาสตร์ ที่ต้องใช้เวลาในการสอนมากๆ ครูควรจะทำวิดีโอการสอนในเนื้อหานั้นๆ ล่วงหน้าเพื่อให้นักเรียนได้นำไปศึกษาค้นคว้าในปะเด็นต่างๆ ที่ครูได้ตั้งประเด็นไว้ แล้วเมื่อถึงชั่วโมงเรียนในเรื่องนั้นๆ ก็จะสามารถทำกิจกรรมได้ทันทีโดยที่ไม่ต้องมาเสียเวลาสอนหน้าชั้นเรียนอีก เช่นตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ วิชาวิทยาศาสตร์ ม.1(หลักสูตร 2551)สืบค้นเมื่อ 17 พ.ค. 2556 อ้างอิง

เรื่อง เซลล์และการค้นพบเซลล์ เวลา 2 ชั่วโมง กระบวนการจัดการเรียนรู้ (กระบวนการสืบเสาะหาความรู้)

     1. ขั้นสร้างความสนใจ
            1.1 ครูถามนักเรียนว่าร่างกายของคนเราหรือสัตว์ประกอบขึ้นด้วยส่วนประกอบใดบ้าง และหน่วยที่เล็กที่สุดที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายคืออะไร
            1.2 ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายในประเด็น
                  - เซลล์คืออะไร
                  - นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบเซลล์คนแรกเป็นใคร
                  - นักเรียนจะศึกษาลักษณะของเซลล์ได้อย่างไร
            1.3 ครูนำอภิปรายถึงการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการมองเห็น ได้แก่ แว่นขยายกล้องจุลทรรศน์ และกล้องโทรทรรศน์ นักเรียนร่วมกันอภิปรายจำแนกรายละเอียดถึงความแตกต่างๆ ในการเลือกใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ดังกล่าว จากนั้นให้นักเรียนศึกษาส่วนประกอบและการใช้กล้องจุลทรรศน์ จากใบความรู้ เรื่อง กล้องจุลทรรศน์ คิดลำดับเหตุการณ์ขั้นตอนการใช้กล้องจุลทรรศน์ศึกษาสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
            1.4 ครูสาธิตการใช้กล้องจุลทรรศน์และอธิบายประเภท ส่วนประกอบ และวิธีการใช้กล้องจุลทรรศน์ให้นักเรียนเข้าใจ
     2. ขั้นสำรวจและค้นหา
            2.1 นักเรียนแบ่งกลุ่ม กลุ่มละ 4 คน โดยคละเพศและความสามารถ และแจ้งให้นักเรียนทราบว่าผลงานของนักเรียนคือ ผลงานของกลุ่ม โดยให้นักเรียนแต่ละกลุ่มมีหมายเลขประจำตัว เช่น คนที่ 1 หมายเลข 1 คนที่ 2 หมายเลข 2 คนที่ 3 หมายเลข 3 และคนที่ 4 หมายเลข 4 และให้สมาชิกแต่ละกลุ่มแบ่งหน้าที่กันทำงานตามหมายเลขที่ได้
                    หมายเลข 1 อ่านกิจกรรมใบความรู้
                    หมายเลข 2 ตรวจอุปกรณ์ วิเคราะห์ข้อมูล
                    หมายเลข 3 ทำการทดลอง ทำกิจกรรม
                    หมายเลข 4 บันทึกผลการทดลอง ตอบคำถาม
  
              2.2 ให้ตัวแทนกลุ่มรับกล้องจุลทรรศน์พร้อมอุปกรณ์ไปศึกษากลุ่มละ 1 ชุด นักเรียนใช้กระบวนการกลุ่มอภิปรายและสรุปเกี่ยวกับส่วนประกอบและวิธีใช้กล้องจุลทรรศน์ จากใบงาน เรื่อง การใช้กล้องจุลทรรศน์
     3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุป
             3.1 นักเรียนแต่ละกลุ่มส่งตัวแทนมานำเสนอผลการทดลองหน้าชั้นเรียน
             3.2 ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายผลการทดลอง โดยใช้แนวคำถาม ต่อไปนี้
                     - เมื่อนักเรียนใช้เลนส์ใกล้วัตถุกำลังขยายต่ำ และเลนส์ใกล้วัตถุกำลังขยายสูงภาพที่ปรากฏในกล้องจุลทรรศน์แตกต่างกันอย่างไร
                     - ลักษณะของภาพ ที่ปรากฏในกล้องจุลทรรศน์เป็นอย่างไร
                     - ถ้าต้องการเลื่อนภาพลงด้านล่างไปทางขวา จะต้องเลื่อนสไลด์ไปทางใด
             3.3 นักเรียนและครูร่วมกันสรุปผลการทดลอง โดยให้ได้ข้อสรุปดังนี้
                    - จากผลการทดลองพบว่าเมื่อนำสไลด์ มาส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ภาพที่ปรากฏจะมีขนาดใหญ่กว่าภาพที่เห็นด้วยตาเปล่า และลักษณะของภาพจะเป็นภาพกลับซ้ายไปขวา และกลับบนลงล่าง
      4.ขั้นขยายความรู้
            4.1 ให้นักเรียนที่นั่งใกล้กันจับคู่กันศึกษาใบความรู้ เรื่อง เซลล์และการค้นพบเซลล์
            4.2 นักเรียนและครูร่วมกันสรุปเกี่ยวกับความหมายของเซลล์ การค้นพบเซลล์การใช้กล้องจุลทรรศน์ เพื่อศึกษาลักษณะของเซลล์ ลักษณะและรูปร่างของเซลล์สิ่งมีชีวิตและการจัดระบบของเซลล์เพื่อทำหน้าที่เฉพาะ ที่ได้จากการเรียน และการปฏิบัติกิจกรรม

              จากแผนการสอนดังกล่าวทำการสอนภายใน 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นการสอนแบบปกติ ทั่วๆไป ซึ่งได้ผลในระดับหนึ่ง แต่อาจทำให้นักเรียนมีเวลาในการเรียนรู้และทำความเข้าใจในเนื้อหานั้นๆได้น้อยลง เนื่องจากว่า
            1.ขั้นสร้างความสนใจ อาจใช้เวลาประมาณ 30 นาที หรือมากกว่านั้น
            2.ขั้นสำรวจและค้นหา อาจใช้เวลาประมาณ 40 นาทีหรือมากกว่านั้น
            3. ขั้นอธิบายและลงข้อสรุปอาจใช้เวลาประมาณ 30 นาทีหรือมากกว่านั้น
            4. ขั้นขยายความรู้อาจใช้เวลาประมาณ 30 นาทีหรือมากกว่านั้น และยังมีองค์ประกอบอื่นๆ อีกในชั้นเรียนที่ทำให้กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นได้ช้า

ตัวอย่างการนำไปใช้กับห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom)

             หากนำแผนการสอนนี้มาใช้กับวิธีการแบบห้องเรียนกลับด้าน (Flipped Classroom)ภายใน 2 ชั่วโมงของการเรียนในห้องเรียน ก็จะได้ขั้นตอนดังนี้
            1. ขั้นสร้างความสนใจ (ล่วงหน้าก่อนการเรียนการสอนในชั่วโมงจริง)
                 1.1 ครูสร้างบล็อก หรือตั้งกระทู้บนอินเทอร์เน็ตเพื่อเป็นประเด็นในแง่มุมต่างๆ โดยตั้งกระทู้ถามนักเรียนว่าร่างกายของคนเราหรือสัตว์ประกอบขึ้นด้วยส่วนประกอบใดบ้าง และหน่วยที่เล็กที่สุดที่ประกอบขึ้นเป็นร่างกายคืออะไร
                 1.2 ครูควรเลือกสร้างสื่อ ในเรื่องที่เกี่ยวข้องสำหรับสอนนักเรียนล่วงหน้าอาจเป็นคลิปวิดีโอเป็นเรื่องๆ สั้นๆ หรืออาจเป็นไฟล์สำหรับกดาว์นโหลดได้ หรือนำขึ้นไปฝากไว้บน Youtube.com เนื้อหาเช่น ครูสาธิตการใช้กล้องจุลทรรศน์และอธิบายประเภท ส่วนประกอบ และวิธีการใช้กล้องจุลทรรศน์ให้นักเรียนเข้าใจในรูปแบบต่างๆ เช่นคลิปวิดีโอ
                 1.3 ครูและนักเรียนร่วมกันอภิปรายในประเด็นต่างบนอินเทอร์เน็ตหรือทางสื่อต่างๆ ล่วงหน้าก่อนการเรียนในห้องเรียน เช่น Line, Facebook, ตามแต่ที่จะถนัด เช่น
                         - เซลล์คืออะไร
                         - นักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบเซลล์คนแรกเป็นใคร
                         - นักเรียนจะศึกษาลักษณะของเซลล์ได้อย่างไร
                         - ครูอภิปรายถึงการใช้อุปกรณ์ที่ช่วยในการมองเห็น ได้แก่ แว่นขยายกล้องจุลทรรศน์ และกล้องโทรทรรศน์
                         - นักเรียนร่วมกันอภิปรายจำแนกรายละเอียดถึงความแตกต่างในการเลือกใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ดังกล่าว
                 1.4 นักเรียนศึกษาค้นคว้า ส่วนประกอบและการใช้กล้องจุลทรรศน์ จากคลิปวิดีโอเรื่อง กล้องจุลทรรศน์ หรือจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆ นักเรียนคิดและลำดับเหตุการณ์ขั้นตอนการใช้กล้องจุลทรรศน์ศึกษาสิ่งที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
             2.ขั้นที่2 สำรวจและค้นหา และขั้นที่ 3 อธิบายและลงข้อสรุป 2 ขั้นตอนนี้ครูสามารถให้นักเรียนคุยกันหรือวางแผนการทำงานร่วมกันมาจากที่บ้านล่วงหน้าก่อนการเรียนจริงในห้องเรียน
             3. ขั้นขยายความรู้ ขั้นตอนนี้สามารถนำมาทำกิจกรรมในห้องเรียนได้เลยในทันที เต็มเวลา 2 ชั่วโมง ที่เข้าเรียนเพราะทุกขั้นตอนนักเรียนได้เรียนและศึกษามาทั้งหมดแล้ว
สรุป 

               มาถึงตรงนี้ก็อย่าพึ่งท้อนะครับ นี่เป็นวิธีการหนึ่งที่เพื่อนครูและผู้สนใจ สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในห้องเรียน ส่วนวิธีการผลิตและวิธีการใช้นั้นวันหลังผมจะค่อยๆ มาขยายความและวิธีการทำให้ในวันหลังครับ


อนุศร หงษ์ขุนทด

17 พ.ค. 2556

musicmankob@gmail.com









ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวคิดในการจัดการเรียนการสอน TPACK Model ตอนที่ 1

แนวคิดในการจัดการเรียนการสอน TPACK Model ตอนที่ 5

แนวคิดในการจัดการเรียนการสอน TPACK Model ตอนที่ 2