กิจกรรมการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

กิจกรรมการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยใช้แนวทางการเรียนรู้แบบผสมผสาน (ตอนที่ 1)
(Moderate Class More Knowledge With Blended Learning) 


ดร.อนุศร  หงษ์ขุนทด
musicmankob@gmail.com 

     บทความนี้เกิดจากการที่ผู้เขียนได้รับทราบกรอบแนวทางนโยบายจากต้นสังกัด ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ ซึ่งกิจกรรม การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge) ผู้เขียนเห็นด้วยในหลักการนี้และเชื่อว่าจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างยิ่งกับผู้เรียนโดยตรง อันเนื่องมาจากแนวทางนี้เป็นแนวทางการจัดการเรียนรู้ที่มีความสอดคล้องกับ แนวทางการการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ที่ให้ความอิสระกับผู้เรียนสำหรับใช้ในการเรียนรู้ตามความสนใจของผู้เรียน โดยได้รับการอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ จากผู้สอน ในบทความนี้ผู้เขียนจะอธิบายถึงความเป็นไปได้ในการจัดกิจกรรมและแนวทางในการจัดการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ โดยใช้แนวทางการเรียนรู้แบบผสมผสาน (Blended Learning) เพื่อเป็นอีกแนวทางหนึ่งเพื่อให้ผู้สอนได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการพิจารณาปรับใช้กับกิจกรรมนี้ต่อไป

แนวคิดการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

           รมว.ศึกษาธิการ ได้กล่าวถึงแนวทางการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ สำหรับเป็นแนวทางในการดำเนินการของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่าจะทำอย่างไรให้เด็ก ผู้ปกครอง และครู มีความสุขในการเรียนการสอนเพื่อให้เด็กมีความสุขกับการเรียนรู้ ไม่มีความเครียดและไม่มีการบ้านเพิ่ม ควรจัดกิจกรรมใดให้เด็กมีความสุขในการเรียนมากขึ้น ซึ่งผลจากการที่เด็กมีความสุขก็จะส่งผลให้ผู้ปกครองมีความสุขเมื่อเห็นลูกมีความสุขไปด้วย (นวรัตน์ รามสูต และบัลลังก์ โรหิตเสถียร, 2558)

        จากกรอบแนวทางการจัดกิจกรรมสามารถสรุปได้ว่า กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในโรงเรียนและในห้องเรียนจากผู้สอนควรมีการจัดกิจกรรมที่เน้นให้ผู้เรียนทุกคนได้เรียนรู้ร่วมกัน ผู้สอนควรจะเปลี่ยนบทบาทจากผู้สอนมาเป็นผู้อำนวยความสะดวกเป็นที่ปรึกษา ชี้แนะ ช่วยเหลือผู้เรียนให้ประสบผลสำเร็จและผู้เรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเอง ด้วยวิธีการเรียนรู้เป็นทีมหรือจากกลุ่มเพื่อนมากขึ้น ซึ่งการเรียนรู้ลักษณะนี้จะส่งผลให้ผู้เรียนได้เรียนรู้อย่างมีความสุข โดยมีการวางกรอบนโยบาย (สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา, 2558) ดังนี้

        1. กิจกรรมเป็นทางเลือก สนองตอบความสนใจความถนัดของผู้เรียนอย่างหลากหลาย
  2. เรียนรู้หลักการ สร้างความรู้ผ่านกระบวนการและกิจกรรม (Process and Content)
  3. ลงมือปฏิบัติและสร้างความรู้ในบรรยากาศที่อบอุ่น อิสระ และปลอดภัย
  4. ปรับบทบาทครูจากการเป็นผู้สอนเป็นผู้ให้คำปรึกษาชี้แนะ (Coach and Mentor)
  5. ผู้สอนควรใช้วิธีการประเมินผลที่หลากหลายและเป็นการประเมินตามสภาพจริง วิเคราะห์คุณภาพและพัฒนาการของผู้เรียน มากกว่าการประเมินผู้เรียนจากการสอบเท่านั้น

การบริหารจัดการเวลาเรียนและการจัดกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

  1. ส่งเสริม สนับสนุน สร้างความเข้าใจในการนำนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” สู่การปฏิบัติแก่ครูและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
  2. ปรับโครงสร้างเวลาเรียนของสถานศึกษาและจัดทำตารางเรียนให้เหมาะสมกับการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” แต่ละช่วงชั้น
  3. เลือกกำหนดกิจกรรมให้ตอบสนองต่อความสนใจ ความถนัดและความต้องการของผู้เรียนอย่างหลากหลาย สอดคล้องกับช่วงวัยและวุฒิภาวะของผู้เรียน
  4. จัดระบบข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับกิจกรรม แหล่งเรียนรู้ ภูมิปัญญาท้องถิ่นตามบริบทของสถานศึกษาและชุมชน
  5. ส่งเสริมและสนับสนุนงบประมาณ สื่อการเรียนรู้และสิ่งอำนวยความสะดวกให้เอื้อต่อการจัดกิจกรรมอย่างมีประสิทธิภาพ
  6. กำกับ ติดตามการจัดกิจกรรมอย่างเป็นระบบ
  7. ใช้การนิเทศภายใน การเสวนาสะท้อนผลหลังการปฏิบัติ (After Action Review: AAR) เป็นเครื่องมือในการศึกษาและพัฒนาประสิทธิภาพกระบวนการและกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” และเป็นเครื่องมือการพัฒนาบุคลากรอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
  8. ศึกษา วิจัยและพัฒนา “กระบวนการบริหารจัดการเวลาเรียน” อย่างเป็นระบบ

หลักสำคัญ 3 ประการในการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ มีดังนี้

  1. ลดเวลาเรียน ที่หมายถึง การลดเวลาเรียนในภาควิชาการหรืออีกนัยหนึ่งคือการลดเวลาของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้ เช่น การบรรยาย การสาธิต การศึกษาใบความรู้ ให้น้อยลง
       2. เพิ่มเวลารู้ ที่หมายถึง การเพิ่มเวลาและโอกาสให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริง ได้รับประสบการณ์ตรงจากเนื้อหาการเรียน สามราถคิดวิเคราะห์ ทำงานเป็นทีมและสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างมีความสุขจากกิจกรรมสร้างสรรค์ที่หลากหลายมากขึ้นทั้งในห้องเรียนและนอกเวลาเรียน
  3. การบริหารจัดการเวลาเรียน ที่หมายถึง การจัดการสัดส่วนเวลาของการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้รับความรู้ให้น้อยลงให้น้อยลงแต่มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเน้นไปที่การเพิ่มเวลาของกิจกรรมการเรียนรู้ที่ผู้เรียนเป็นผู้ลงมือปฏิบัติจริงด้วยตนเองและสามารถสร้างความรู้ด้วยตนเองได้มากขึ้น เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาตามความสนใจ ความถนัดและความต้องการได้เพิ่มพูนทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะชีวิต ความมีน้ำใจ การทำงานเป็นทีมและมีความสุขในการเรียนรู้

รูปแบบกิจกรรมตามนโยบายลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

       รูปแบบกิจกรรมตามนโยบาย ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ (Moderate Class More Knowledge) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐานได้กำหนดไว้ในขั้นต้น แบ่งเป็น 4 หมวด 16 กลุ่ม ดังนี้
  1. กิจกรรมพัฒนาผู้เรียน (กิจกรรมบังคับตามหลักสูตร) ประกอบด้วย 3 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมแนะแนว กิจกรรมนักเรียน และกิจกรรมเพื่อสังคมและสาธารณประโยชน์
  2. สร้างเสริมสมรรถนะและการเรียนรู้ ประกอบด้วย 5 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ พัฒนาความสามารถด้านการสื่อสาร พัฒนาความสามารถด้านการคิดและการพัฒนากรอบความคิดแบบเปิดกว้าง (Growth Mindset) พัฒนาความสามารถด้านการแก้ปัญหา พัฒนาความสามารถด้านการใช้เทคโนโลยีและพัฒนาทักษะการเรียนรู้ที่ส่งเสริมการเรียนรู้ 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้
  3. สร้างเสริมคุณลักษณะและค่านิยม ประกอบด้วย 4 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ ปลูกฝังค่านิยมและจิตสำนึกการทำประโยชน์ต่อสังคม มีจิตสาธารณะและการให้บริการด้านต่างๆ ทั้งที่เป็นประโยชน์ต่อตนเองและต่อส่วนรวม ปลูกฝังความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม (มีวินัย ซื่อสัตย์ สุจริต เสียสละ อดทน มุ่งมั่นในการทำงาน กตัญญู) และปลูกฝังความรักความภาคภูมิใจในความเป็นไทยและหวงแหนสมบัติของชาติ
       4. สร้างเสริมทักษะการทำงาน การดำรงชีพ และทักษะชีวิต ประกอบด้วย 4 กลุ่มกิจกรรม ได้แก่ ตอบสนองความสนใจ ความถนัด ความต้องการของผู้เรียน ฝึกการทำงาน ทักษะทางอาชีพทรัพย์สินทางปัญญา อยู่อย่างพอเพียง มีวินัยทางการเงิน พัฒนาความสามารถด้านการใช้ทักษะชีวิต และสร้างเสริมสมรรถนะทางกาย
ภาพที่ 1 สรุปแนวทาง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
ที่มา : อนุศร  หงษ์ขุนทด (2558)

แนวทางในการจัดกิจกรรมของผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง

  1. ผู้บริหารสถานศึกษา
        1.1 เป็นผู้นำการขับเคลื่อนนโยบาย “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” ระดับโรงเรียนและการบริหารจัดการเวลาเรียนที่เอื้อต่อการ “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
        1.2 อำนวยความสะดวก ปรับปรุงและพัฒนาปัจจัยต่างๆ ให้มีความพร้อมในการปฏิบัติ
        1.3 ประสานและแสวงหาความร่วมมือจากชุมชน แหล่งเรียนรู้นอกสถานศึกษาและภูมิปัญญาต่างๆ มาร่วมในการบริหารจัดการเวลาเรียน การจัดการเรียนรู้และการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียนเพิ่มเวลารู้”
        1.4 นิเทศ กำกับ ติดตาม อย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง
       1.5 จัดเวทีเสวนาทบทวนหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR)
        1.6 นำผลการทบทวนหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) และผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการเวลาเรียนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียน

ภาพที่ 2 แนวทางในการจัดกิจกรรมของผู้บริหารสถานศึกษา
2. ผู้สอน
      2.1 วิเคราะห์ผู้เรียนเป็นรายบุคคล และจัดทาฐานข้อมูลสารสนเทศเกี่ยวกับความสนใจความถนัดและความต้องการ จาแนกเป็นระดับชั้นเรียน และเป็นรายบุคคล
      2.2 ออกแบบกิจกรรม เพิ่มเวลารู้ สื่อ แหล่งเรียนรู้ การวัดและประเมินผล หลักการและแนวทางการจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”
      2.3 จัดการเรียนรู้ และจัดกิจกรรม “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้” โดยเน้นการสร้างแรงจูงใจนักเรียนให้มีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้ จัดการเรียนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสาคัญ จัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ และกิจกรรมการเรียนรู้อย่างหลากหลาย
      2.4 ร่วมเสวนา ทบทวนหลังการปฏิบัติ และนำผลมาพัฒนาการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง
      2.5 ประเมินและพัฒนานักเรียนเต็มตามศักยภาพของนักเรียนแต่ละคน
      2.6 ร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง
      2.7  รายงานผลการเรียนรู้ของนักเรียน
ภาพที่ 3 แนวทางในการจัดกิจกรรมของผู้สอน

3. ผู้เรียน
     3.1 สนใจและเข้าร่วมกิจกรรมตามตารางเรียนและวิธีการเรียนรู้ที่กำหนดอย่างกระตือรือร้นและสนองตอบต่อกิจกรรมเต็มตามศักยภาพและขีดความสามารถของตนเอง
    3.2 สำรวจความสนใจ ความต้องการและศักยภาพของตนเองเพื่อวางแผนการเรียนรู้และพัฒนาตนเอง
    3.3 ค้นหาความถนัด ความต้องการของตนเอง
    3.4 ฝึกฝน พัฒนาเพิ่มพูนความสามารถของตนเอง
     3.5 ประเมินและปรับปรุงวิธีการเรียนรู้และผลการเรียนรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่อง
     3.6 ให้ข้อมูลป้อนกลับในการปรับปรุงพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ของครูผู้สอน
    3.7 ร่วมนำเสนอผลการเรียนรู้ของตนเองอย่างภาคภูมิ

ภาพที่ 4 แนวทางในการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้เรียน
4. ผู้ปกครอง
       4.1 ส่งเสริม สนับสนุน ผู้เรียนในการปฏิบัติกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ และให้ความร่วมมือกับโรงเรียน ในการดำเนินงานตามนโยบาย
       4.2 ให้ข้อมูลป้อนกลับในการปฏิบัติกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ของผู้เรียน
       4.3 ประเมินความก้าวหน้าการปฏิบัติกิจกรรมของผู้เรียน และร่วมชื่นชมผลงานของผู้เรียน

ภาพที่ 5 แนวทางในการเข้าร่วมกิจกรรมของผู้ปกครอง

        สามารถสรุปได้ว่าแนวคิดการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับการเรียนรู้ของผู้เรียนในศตวรรษที่ 21 โดยนโยบายเน้นไปที่ความอิสระในการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นหลัก ซึ่งจะต้องมี 4 องค์ประกอบหลักที่สำคัญในการขับเคลื่อนกระบวนการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ให้ประสบผลสำเร็จได้ คือ ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้สอน ผู้เรียนและผู้ปกครอง ที่จะต้องเข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการวางแผนการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ โดยเฉพาะการรายงานผลของการจัดกิจกรรมที่เสร็จสิ้นแล้วในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ หรือใน 1 เดือน เพื่อนำผลจากการเรียนหรือจากกิจกรรมการเรียนรู้ที่ได้มาวิเคราะห์ เพื่อค้นหาปัญหาสำหรับนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการปรับปรุงกิจกรรมที่กำลังจะมาถึงในครั้งต่อไป เพื่อการทบทวนหลังการปฏิบัติงาน (After Action Review : AAR) และเพื่อนำผลการประเมินไปใช้ในการพัฒนาการบริหารจัดการเวลาเรียนและการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ ให้ส่งผลต่อคุณภาพของผู้เรียนในกิจกรรมครั้งต่อไป ในส่วนของการจัดกิจกรรมต่างๆ ตามนโยบายนั้นสุดแล้ว ศักยภาพของแต่ละสถานศึกษา ผู้สอน และความต้องการของผู้เรียนที่จะเป็นตัวกำหนดว่าควรจะจัดกิจกรรมการเรียนรู้ใดบ้างเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้เรียน

เอกสารอ้างอิง

นวรัตน์ รามสูต และบัลลังก์ โรหิตเสถียร.  2558.  ศธ.ประกาศนโยบาย "การลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้" และ "การประดับธงชาติให้ใหม่และมีสีสดใสเสมอ".  (Online): http://www.moe.go.th/websm/2015/aug/281.html, 8 พฤศจิกายน 2558.

สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา.  2558.  คู่มือบริหารจัดการเวลาเรียน "ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้".   กรุงเทพมหานคร: สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ.

อนุศร  หงษ์ขุนทด.  2558.  สรุปแนวทาง “ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้”.  (Online): https://www.facebook.com/21CPT/photos/a.325025114326940.1073741828.244120815750704/516617418501041/?type=3&theater, 8 พฤศจิกายน 2558.


ความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวคิดในการจัดการเรียนการสอน TPACK Model ตอนที่ 1

แนวคิดในการจัดการเรียนการสอน TPACK Model ตอนที่ 5