กิจกรรมการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ 2

กิจกรรมการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้โดยใช้แนวทางการเรียนรู้แบบผสมผสาน (ตอนที่ 2)

ดร.อนุศร  หงษ์ขุนทด
musicmankob@gmail.com

บทนำ

จากที่ผู้เขียนได้กล่าวถึงแนวทางในการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ตามนโยบายของรัฐบาลไปแล้วในตอนที่ 1 ตอนที่ 2 นี้ผู้เขียนจะขอกล่าวถึงแนวทางในการการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 เพื่อเตรียมความพร้อม สำหรับนำไปใช้กับการเรียนรู้แบบผสมผสานพร้อมกับการอธิบายถึงแนวทางที่เป็นไปได้จริงและสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียนตามสภาพที่แท้จริงและการเตรียมความพร้อมสำหรับการจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ของผู้สอนต่อไป

กิจกรรมการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

โลกกำลังเปลี่ยนแปลงเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ที่มีการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ด้านตลอดเวลา โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจโลกที่พัฒนาทั้งทางด้านวิชาชีพ และอุตสาหกรรม รวมไปถึงการแข่งขัน และความร่วมมือกันในระดับโลกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และขยายออกเป็นวงกว้าง ดังนั้นการเตรียมความพร้อมของประชากรในประเทศเพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงนี้จึงมีความจำเป็น คนที่มีความรู้ และมีทักษะในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น และสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ใหม่ๆ ได้เท่านั้นจึงจะประสบความสำเร็จ ส่วนผู้ที่ขาดความเชี่ยวชาญในทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ก็จะกลายเป็นแรงงานที่ไม่ได้รับความต้องการในตลาดแรงงานได้ค่าแรงที่ต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งสอดคล้องกับคำกล่าวของ (วิจารณ์ พานิช, 2556) ที่กล่าวว่า “เราควรกลับมาตั้งคำถามว่าเราเรียนหนังสือเพื่ออะไร นักเรียนของเราไปโรงเรียนกันทำไมคำตอบคือเพื่อไปศึกษาหาความรู้หาไปทำไม คำตอบคือหาไปเพื่อดำรงชีวิต”

  วิสัยทัศน์สำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ได้กล่าวถึงสิ่งที่ผู้เรียนควรได้รับจากการเรียน คือ ความเชี่ยวชาญในวิชาแกน และทักษะที่จำเป็นของผู้เรียนที่ควรมีในศตวรรษที่ 21 ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันการจัดการเรียนการสอนในระบบการศึกษาโดยส่วนใหญ่ อาจยังไม่ได้มีการเตรียมความพร้อมของผู้เรียนให้พร้อมกับสังคมโลกที่เปลี่ยนไปทั้งในเรื่องของ โอกาส และข้อเรียกร้องต่างๆ ทางเศรษฐกิจ แรงงาน และความเป็นพลเมืองในศตวรรษที่21 ทักษะที่มีความจำเป็นต่อผู้เรียน ได้แก่ ทักษะที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดแนวคิดที่สามารถสร้างนวัตกรรมขึ้นมาได้ด้วยตนเองโดยอาศัยความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ และกระบวนการแก้ปัญหาของผู้เรียน ในอนาคตทักษะต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลดีโดยภาพรวมของประเทศทำให้ประเทศชาติเกิดความเจริญมั่งคั่งทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคม

ความสำคัญ 4 ประการในการเตรียมความพร้อม

  กรอบแนวคิดทางการศึกษาสำหรับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ผู้เขียนมองว่าควรถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรของสถานศึกษา หรือในวิชาแกนต่างๆ ของหลักสูตร โดยมุ่งเน้นผลลัพธ์ไปที่ผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้รับการเตรียมความพร้อม และเพื่อให้เกิดทักษะการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด ทั้งในด้านของ การรู้จักคิด การเรียนรู้ การทำงาน การแก้ปัญหา การสื่อสาร และการทำงานร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผลติดตัวไปตลอดชีวิต โดยมีข้อสำคัญดังนี้

1. ทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 อาจยังไม่ได้ถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรของสถานศึกษา ซึ่งทักษะดังกล่าวเป็นสิ่งที่นอกเหนือจากความจำเป็นในหลักสูตร ตัวอย่างเช่น บางสถานศึกษาอาจมีในหลักสูตรซึ่งถ้ามีก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากสำหรับผู้เรียน การบรรจุทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 ไว้ในหลักสูตร ถือว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและต้องมีทักษะต่างๆ เหล่านี้ในหลักสูตรอย่างชัดเจน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าในอดีตทักษะที่จำเป็นเหล่านี้ล้วนแล้วแต่อาจจะถูกสอนแบบตามมีตามเกิด หรือในบางครั้งผู้เรียนอาจได้ทักษะพวกนี้โดยบังเอิญจากผู้สอนที่ตระหนักและให้ความสำคัญของทักษะเหล่านี้

  2. ทักษะที่จำเป็นในการดำรงชีวิตในศตวรรษที่ 21 มีความสำคัญกับผู้เรียนทุกคน อันเนื่องมาจากตลาดแรงงานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นองค์กรต่างๆ ที่มีการปรับตัวและการแข่งขันกันสูงการบริหารจัดการของผู้บริหารองค์กรเน้นการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กรมากขึ้น สร้างระบบงานที่มีความยืดหยุ่น มีการกระจายความรับผิดชอบให้พนักงานในระดับปฏิบัติการมากขึ้น โดยใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาช่วยทำให้ระบบในองค์กรมีความสะดวกและง่ายในการทำงานมากขึ้น เพื่อนำมาประกอบในการตัดสินใจ ดังนั้นผู้เรียนทุกคนหากได้รับการปลูกฝังให้มีทักษะแห่งศตวรรษใหม่ย่อมมีความได้เปรียบในการทำงาน โดยสามารถเลือกใช้ข้อมูล และเครื่องมือต่างๆ ที่มีอยู่อย่างมากมาย มีความอิสระจากระบบการบริหารงานขององค์กร ส่งผลให้สามารถรับผิดชอบ และบริหารจัดการงานให้จบได้ด้วยตนเองเพื่อส่งต่อไปให้ผู้ริหารพิจารณาบริหารจัดการต่อไป

  3. ความคาดหวังจากองค์กรต่างๆ ทั้งจากนายจ้าง รวมไปถึง อาจารย์ในระดับการศึกษาที่สูงขึ้น เช่น ระดับอุดมศึกษา ที่รับพนักงาน หรือนักศึกษาเข้ามาใหม่จะมีความสามารถใช้ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
เพื่อทำงาน หรือเข้าเรียนได้ในทันทีโดยไม่ต้องมีการฝึกฝนทักษะเหล่านี้เพิ่มหลักจากที่เริ่มปฏิบัติงาน โดยเฉพาะทักษะความรู้พื้นฐานด้านการเงิน เศรษฐกิจ ธุรกิจ และการประกอบกิจการ หากผู้เรียนสามารถวางแผนการดำเนินชีวิต สามารถตระหนักได้ถึงโอกาส ความเสียง และรางวัลหรือผลตอบแทนที่จะได้รับ รวมถึงความสามารถในการวางแผนการทำงาน หรือในการศึกษาได้ด้วยตนเอง เพื่อส่งผลให้ตัวเองประสบผลสำเร็จได้อย่างไร สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้นล้วนแล้วแต่เป็นพื้นฐานในการพัฒนาองค์กร ให้มีความเจริญก้าวไปได้อย่างรวดเร็วทั้งสิ้น

4. กรอบแนวคิดเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 มีความคาดหวังที่จะให้ผู้เรียนได้รับทักษะที่จำเป็น ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว ความเป็นผู้นำ และทักษะการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม ทักษะต่างๆ เหล่านี้จะส่งผลให้องค์กร แยกออกมาจากความล้าหลังและมีศักยภาพที่สูงขึ้นมากทางธุรกิจ เช่น ความแปลกใหม่ทางความคิด ความคล่องตัว และการปรับปรุงอย่างต่อเนื่องของผู้เรียน  หลักสูตรควรเพิ่มทักษะที่สนับสนุนให้ผู้เรียนมีทั้งความรู้ในเนื้อหา และทักษะที่จะประยุกต์ใช้ และสามารถปรับเปลี่ยนความรู้ที่มีให้เข้ากับเป้าหมายที่ต้องการ และสร้างสรรค์ ตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

สรุป



       กิจกรรมการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้สำหรับระบบการศึกษาในศตวรรษที่ 21 จึงควรมีความเป็นเลิศในเนื้อหาและมีทักษะควบคู่กัน โดยต้องมีการพัฒนาโครงสร้าง หรือระบบต่างๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องและสนับสนุนทั้งระบบ เช่น การปรับมาตรฐานการเรียนรู้ การปรับโครงสร้างหลักสูตร วิธีการประเมิน วิธีการสอน การพัฒนาทางวิชาชีพ การเตรียมความพร้อมของครู การพัฒนาเด็กก่อนวัยเรียนและโครงสร้างด้านเทคโนโลยี โครงสร้างดังกล่าวมาทั้งหมดควรมีการสนับสนุนการเรียนรู้แบบลงมือปฏิบัติ การแสวงหาความรู้ และการพัฒนาทักษะการคิดระดับสูงของผู้เรียนซึ่งถือเป็นสิ่งที่สำคัญของการศึกษาในศตวรรษที่ 21 ในความหมายคือ ทั้งหลักสูตร สถานศึกษาและผู้สอน ไม่ควรที่จะส่งเสริมหรือฝึกฝนแค่ให้ผู้เรียนมีความเชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์ดิจิตอล แล้วถือว่าผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 การเชี่ยวชาญในการใช้อุปกรณ์ดิจิตอลของผู้เรียน ไม่ได้หมายความว่าผู้เรียนมีทักษะการเรียนรู้และมีทักษะในการคิดนวัตกรรม มีทักษะชีวิต ดังนั้นกรอบแนวคิดในการพัฒนาโครงสร้างเพื่อการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 ควรต้องได้รับการพัฒนาให้ทันสมัย เช่น ทักษะโดยรวมที่บรรจุลงในมาตรฐานการเรียนรู้อย่างชัดเจน วิธีการประเมินผล หลักสูตรและการสอน การพัฒนาทางวิชาชีพและสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ของผู้เรียนเกิดความเหมาะสมต่อการเรียนการสอน การเรียนรู้ รวมไปถึงผลลัพธ์ที่ต้องการในอนาคตของผู้เรียนด้วย เช่น ผู้เรียนมีกระบวนการคิดขั้นสูง มีความคิดสร้างสรรค์นวัตกรรม มีความยืดหยุ่นและความสามารถในการปรับตัว มีความเป็นผู้นำ มีทักษะการเรียนรู้ข้ามวัฒนธรรม รวมไปถึงความรู้พื้นฐานในทักษะด้านต่างๆ ที่มีความจำเป็นต่อการใช้ชีวิตในอนาคตของผู้เรียน

** หากบทความนี้มีประโยชน์และต้องการนำไปใช้โปรดอ้างอิงตามนี้ครับ

อนุศร  หงษ์ขุนทด.  (2559).  กิจกรรมการลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้โดยใช้แนวทางการเรียนรู้แบบ
         ผสมผสาน (ตอนที่ 2). (Online): http://pitcforteach.blogspot.com/2016/02/2.html

อนุศร  หงษ์ขุนทด
musicmankob@gmail.com
12-02-2559
อ้างอิง
วิจารณ์ พานิช.  (2556). สนุกกับการเรียนในศตวรรษที่ 21. กรุงเทพมหานคร : มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์
วรพจน์ วงศ์กิจรุ่งเรือง และอธิป จิตตฤกษ์. (2554). ทักษะแห่งอนาคตใหม่: การศึกษาเพื่อศตวรรษที่ 21.
  ใน 21st Century Skills: Rethinking How Students Learn. James Bellancaและ Ron Brandt.
  กรุงเทพมหานคร: Openworlds.

ความคิดเห็น

  1. เป็นแนวคิดที่ดีมากที่ครูสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อการจัดการเรียนการสอน

    ตอบลบ
  2. ไม่ระบุชื่อ7 เมษายน 2563 เวลา 08:11

    ได้รับคว่มรู้เพิ่มมากเลยค่ะ

    ตอบลบ

แสดงความคิดเห็น

โพสต์ยอดนิยมจากบล็อกนี้

แนวคิดในการจัดการเรียนการสอน TPACK Model ตอนที่ 1

แนวคิดในการจัดการเรียนการสอน TPACK Model ตอนที่ 5

แนวคิดในการจัดการเรียนการสอน TPACK Model ตอนที่ 2